การออกแบบบ้านนั้นถือเป็นหัวใจสำคัญของการสร้างบ้าน หากบ้านของเรามีการออกแบบบ้านที่ไม่ดีแล้ว หลังจากสร้างเสร็จย่อมจะสร้างปัญหาตามมาได้อย่างไม่รู้จบ สิ่งสำคัญที่ควรคำนึงในการออกแบบบ้านก็คือพื้นที่และสภาพอากาศของตำแหน่งบ้านที่เราจะสร้างอยู่ เช่น การออกแบบเพื่อสร้างบ้านในประเทศไทย แบบบ้านนั้นก็ต้องแตกต่างไปจากการสร้างบ้านในต่างประเทศ แตกต่างกันออกไปตามสภาวะแวดล้อมของประเทศนั้นๆ เราเป็นคนไทยและต้องการสร้างบ้านในประเทศไทย หากเราไปออกแบบบ้านสร้างบ้านตามฝรั่งนั้นก็ดูจะไม่เหมาะสักเท่าไร
วันนี้ Homeenrich มีวิธีการออกแบบบ้านที่เหมาะสมสำหรับคนไทย สำหรับคนที่ต้องการสร้างบ้านให้เหมาะกับสภาพแวดล้อมของไทย และช่วยประหยัดพลังงานมาฝากกันครับ
แบ่งพื้นที่ในบ้านเพิ่มพื้นที่โล่งโปร่งสบาย
การออกแบบบ้านสมัยใหม่นิยมออกแบบให้มีการใช้พื้นที่ให้เกิดประโยชน์สูงสุด โดยจะมีการแบ่งห้องออกเป็นหลายห้อง ทำให้ไม่ค่อยมีการแบ่งพื้นที่ออกมาเป็นส่วนที่โล่งๆ ซึ่งการออกแบบพื้นที่ให้มีส่วนห้องที่โล่งโปร่งสบายคั่นจากการสร้างห้องหลายๆห้องติดกัน จะช่วยให้อากาศภายในบ้านถ่ายเทได้สะดวก มีพื้นที่สำหรับพักและระบายอากาศ ช่วยให้เกิดการหมุนเวียนของอากาศภายในบ้าน ทำให้บ้านเย็น ลดการเปิดแอร์ ค่าไฟก็ลดลง ช่วยให้คนในบ้านเย็นสบายและเป็นการช่วยชาติประหยัดพลังงานได้อีกทางด้วย
ยกพื้นต่างระดับเพิ่มช่องแมวลอด
การออกแบบบ้านในสมัยก่อนจะมีการยกพื้นบ้านให้ต่างระดับกันออกไป โดยจะมีความสูงประมาณ 30-40 cm ซึ่งเรียกช่องลมนี้ว่า "ช่องแมวลอด" โดยช่องแมวลอดนี้สามารถช่วยระบายความร้อน และความชื้นในตัวบ้านได้เป็นอย่างดี หากใครกำลังจะสร้างบ้านใหม่ ก็อย่าลืมออกแบบบ้านโดยใส่ช่องแมวลอดเข้าไปในแบบด้วย สามารถช่วยประหยัดพลังงานได้เป็นอย่างดี
ช่องใต้หลังคาเคล็ดลับบ้านเย็น
เรือนไทยในสมัยก่อนทุกหลังจะถูกออกแบบให้มีช่องว่างอยู่ใต้หลังคา โดยนิยมเกาะสลักไม้เป็นลายฉลุสวยงามปิดทับไว้ เพื่อให้เป็นช่องรับลมรับแสงเข้าสู่ตัวบ้าน ช่องใต้หลังคานี่แหละที่เป็นเคล็ดลับบ้านเย็นของบ้านเรือนไทย เป็นทางผ่านของลมเข้าสู่ตัวบ้านเพื่อช่วยระบายอากาศได้อย่างดีเยี่ยม หากเราออกแบบบ้านใหม่โดยใส่ช่องใต้หลังคาแบบนี้ไว้บริเวณห้องโถง หรือห้องรับแขก เราอาจไม่จำเป็นต้องติดแอร์ทำความเย็นเลยก็ได้ ประหยัดค่าไฟไปได้อีกเยอะ
ชายคายิ่งยาวยิ่งดี
การออกแบบบ้านในปัจจุบันมักจะมีความยาวชายคาประมาณ 50-60 cm ซึ่งเป็นระยะชายคาที่เราเลียนแบบมาจากบ้านของต่างประเทศ ที่มีสภาวะแวดล้อมและวัสดุที่ใช้ทำชายคาแตกต่างจากบ้านเรา โดยที่ต่างประเทศต้องการชายคาที่มีความแข็งแรงเพื่อรองรับกับหิมะที่จะตกลงมาสะสมบนหลังคา อีกทั้งไม้ของต่างประเทศนั้นจะเป็นไม้เนื้ออ่อนจึงต้องทำชายคาให้สั้นเพื่อช่วยรับแรงจากน้ำหนักที่อาจเกิดขึ้นบนหลังคาได้ แต่ในประเทศไทยนั้นไม่มีหิมะตก อีกทั้งไม้บ้านเราก็เป็นไม้เนื้อแข็ง การออกแบบชายคาก็น่าจะมีความยาวประมาณ 100-120 cm ถึงจะเหมาะสม เพื่อจะได้เอาไว้ช่วยบังแดดและฝน ซึ่งหน้าร้อนก็ร้อนได้ใจ หน้าฝนก็ตกบ่อยจนท่วม ออกแบบบ้านแบบไทยๆดีที่สุด
ยกพื้นบ้านให้สูงเข้าไว้
การออกแบบบ้านในสมัยก่อนจะออกแบบให้มีใต้ถุนบ้าน โดยยกตัวบ้านให้สูงขึ้นไปอีก ซึ่งการยกพื้นสูงนั้นจะช่วยให้มีการระบายความร้อนและความชื้นภายในตัวบ้านได้เป็นอย่างดี และยังช่วยให้มีที่อยู่เวลาที่โดนน้ำท่วมอีกด้วย ถึงบ้านวมัยใหม่อาจจะไม่นิยมยกพื้นบ้านให้สูงเหมือนก่อน แต่ก็ควรออกแบบยกพื้นให้สูงอย่างน้อยๆ 1 เมตรเพื่อช่วยระบายความร้อนและความชื้นในตัวบ้านออกมาจากพื้นบ้าน โดยใต้พื้นนั้นสามารถใช้ทรายถมแทนไม้แบบได้ ช่วยประหยัดงบประมาณในการสร้างบ้านไปได้เยอะเลย
การออกแบบบ้านแบบไทยๆนั้นถึงแม้ว่าจะดูเก่าไปแล้ว แต่ก็ยังเป็นภูมิปัญญาที่สามารถเอามาปรับใช้กับการออกแบบบ้านสมัยใหม่ได้อย่างไม่รู้เบื่อ เป็นการออกแบบบ้านแบบง่ายแต่ช่วยให้ประหยัดไปได้หลายเรื่อง ทั้งในเรื่องงบประมาณการสร้างบ้าน รวมไปถึงช่วยประหยัดพลังงานค่าไฟได้เป็นอย่างดี หากเราเอาภูมิปัญญาไทยเก่าๆมาประยุกต์ใช้กับการออกแบบบ้านใหม่ๆในปัจจุบันแล้ว เชื่อได้เลยว่าบ้านของคุณจะเป็นบ้านที่ถูกใจ ถูกหลัก และประหยัดพลังงานอย่างแน่นอน
0 ความคิดเห็น :
แสดงความคิดเห็น